การผลิตเมล็ดพันธุ์


การปฏิบัติงานแปลงขยายพันธุ์

1. ความสำคัญของแปลงขยายพันธุ์
การจัดทำแปลงขยายพันธุ์เป็นขั้นตอนที่สำคัญในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์เนื่องจากเป็นการปฏิบัติอันดับแรกที่กำหนดคุณภาพเบื้องต้นของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้ ทั้งนี้ ปริมาณและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์จะดีมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับการปฏิบัติดูแลรักษา ประกอบกับสภาพแวดล้อมที่ได้รับขณะที่เมล็ดพันธุ์เจริญเติบโตอยู่ในแปลงขยายพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ที่ได้จากแปลงขยายพันธุ์ซึ่งมีคุณภาพต่ำ จะไม่สามารถปรับปรุงให้เมล็ดพันธุ์ดังกล่าวกลับมามีคุณภาพที่ดีได้ นอกจากนี้ ขบวนการจัดการเมล็ดพันธุ์หลังการเก็บเกี่ยวจากแปลงขยายพันธุ์เป็นขั้นตอนที่กำหนดคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้คงคุณภาพดีหรือมีคุณภาพลดต่ำลงได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ผลผลิตเมล็ดพันธุ์จากแปลงขยายพันธุ์ซึ่งมีคุณภาพสูง เมื่อนำมาทำการปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ที่มีการจัดการที่ไม่ถูกต้อง ก็ย่อมมีผลทำให้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแปลงขยายพันธุ์กลายเป็นเมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำลงได้
2. ขั้นตอนการจัดทำแปลงขยายพันธุ์
ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพดี ประกอบด้วยขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้
2.1 การวางแผนการผลิต
การกำหนดเป้าหมายการผลิตเมล็ดพันธุ์ในแต่ละชนิดแต่ละพืชพันธุ์ จัดทำขึ้นโดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานหลายด้าน ได้แก่ การตลาด สภาพพื้นที่ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ ชนิดของพืชพันธุ์ที่ดำเนินการผลิต การกำหนดช่วงเวลาการปลูกและเก็บเกี่ยวให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า และสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตได้มีคุณภาพดี แหล่งและปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่ใช้จัดทำแปลงขยายพันธุ์ รายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ วัสดุอุปกรณ์และเงินทุน ตลอดจนบุคลากรที่มีความรู้ ความชำนาญทำหน้าที่ในการให้คำแนะนำ ติดตามกำกับการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ของเกษตรกรให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน
2.2 การคัดเลือกพื้นที่ และเกษตรกร
วิธีการปฏิบัติควรดำเนินการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกรไปพร้อมๆ กัน โดยพิจารณาคัดเลือกพื้นที่ที่มีสภาพทำเลที่ตั้งเหมาะสมต่อการผลิตพืช/พันธุ์นั้นๆ มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในเขตชลประทานหรือมีน้ำเพียงพอ เป็นพื้นที่ติดต่อกันเป็นแปลงใหญ่ มีการคมนาคมสะดวกไม่เป็นพื้นที่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู หรือในฤดูที่ผ่านมาปลูกพืชชนิดเดียวกันแต่ต่างพันธุ์กับพืชที่ผลิต เพื่อป้องกันการปะปนพันธุ์
การคัดเลือกเกษตรกร ควรพิจารณาผู้มีความพร้อม ความชำนาญ และประสบการณ์ในการปลูกพืชเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ สามารถเรียนรู้และยอมรับวิทยาการผลิตเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ มีความซื่อตรง และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐาน
2.3 การจัดหาเมล็ดพันธุ์เพื่อการจัดทำแปลงขยายพันธุ์
เมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปใช้ปลูกในแปลงขยายพันธุ์ต้องมั่นใจและสามารถทวนสอบกลับได้ว่ามาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ และยืนยันคุณภาพอีกครั้งก่อนจ่ายเมล็ดพันธุ์โดยกลุ่มควบคุมคุณภาพของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว มีปริมาณพอเพียงและมีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานของชั้นเมล็ดพันธุ์หลักหรือขยาย โดยคำนวณปริมาณที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ใช้ในการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ จากอัตราการขยายพันธุ์ที่เหมาะสมสำหรับพืช พันธุ์ นั้นๆ ในแต่ละแหล่งผลิต
2.4 การวางแผนปฏิบัติงานการติดตามแปลงขยายพันธุ์
การวางแผนการปฏิบัติงานการติดตามแปลงขยายพันธุ์ ต้องดำเนินการทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลแปลงขยายพันธุ์ เริ่มต้นจากการวางแผนการจัดทำแปลงขยายพันธุ์และแผนปฏิบัติงานติดตามแปลงขยายพันธุ์ โดยกำหนดช่วงเวลาปฏิบัติงานที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอนที่สำคัญ คือการคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกร จัดทำทะเบียนเกษตรกรผู้ร่วมจัดทำแปลงขยายพันธุ์ จ่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ บันทึกวันปลูก การจัดขนาดของกลุ่มแปลง และกำหนดแผนปฏิบัติงานติดตามแปลงขยายพันธุ์ในช่วงเวลาต่างๆ ประกอบด้วยกิจกรรม ดังนี้
  • การคัดเลือกพื้นที่และเกษตรกร
  • การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์
  • การจ่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อการจัดทำแปลงขยายพันธุ์
  • การปลูกดูแลรักษา
  • การกำจัดพันธุ์ปนในช่วงเวลาที่เหมาะสม
  • การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว การขนส่งเมล็ดพันธุ์เข้าศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว
นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดกิจกรรมที่จะต้องปฏิบัติกับผู้เกี่ยวข้องนอกเหนือจากเกษตรกรด้วย เช่น การประสานงานการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ก่อนการจัดซื้อ การจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจากเกษตรกรแปลงขยายพันธุ์ การประสานงานเพื่อนำเมล็ดพันธุ์เข้าปรับปรุงสภาพในโรงงานและการสรุปผลการจัดทำแปลงขยายพันธุ์
2.5 การติดตาม กำกับแปลงขยายพันธุ์ให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง
การจัดทำแปลงขยายพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพดี จำเป็นต้องมีการติดตามกำกับ ควบคุมการปฏิบัติของเกษตรกรให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพดี ซึ่งดำเนินการโดยยึดหลักการป้องกันในการควบคุมคุณภาพ ดังนี้
  • ติดตาม และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ได้ปริมาณและคุณภาพสูงตามต้องการ
  • มีการป้องกันการเสื่อมพันธุ์และการเสื่อมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
  • มีการติดตามตรวจสอบการใช้เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในแนวทางการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพ
  • มีการวิเคราะห์ปัญหาและสรุปผลการดำเนินงานเมื่อเสร็จสิ้นฤดู เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำแปลงขยายพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การจัดทำแผนการปฏิบัติงานเพื่อการติดตามแปลงขยายพันธุ์ให้มีคุณภาพ จะถูกกำหนดขึ้นตามระยะการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งประกอบด้วย ขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ การเตรียมดิน การปลูก การป้องกันกำจัดวัชพืช การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกต้อง การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรู การตรวจตัดพันธุ์ปน และการเก็บเกี่ยวในระยะเหมาะสม
2.6 การตรวจตัดพันธุ์ปน
เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตในแปลงขยายพันธุ์ โดยตรวจสภาพต้นพืชที่ปลูกอยู่ในแปลงขยายพันธุ์มีลักษณะตรงตามพันธุ์พืชปลูกที่ต้องการเพียงใดหรือมีต้นพืชพันธุ์อื่นขึ้นปะปนอยู่ จึงควรต้องการตรวจตัดสินแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการอย่างน้อย 1 ครั้ง ในระยะที่สามารถประเมินลักษณะประจำพันธุ์ที่ถูกต้องได้ดีที่สุด โดยทั่วไปแล้ว แนะนำให้เกษตรกรตรวจตัดพันธุ์ปนเพื่อเตรียมแปลงขยายพันธุ์ให้ได้มาตรฐานแปลงขยายพันธุ์ก่อนการตรวจสอบคุณภาพแปลงขยายพันธุ์ โดยคณะกรรมการตรวจแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการ เพื่อตรวจแปลงขยายพันธุ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานแปลงขยายพันธุ์หรือไม่ ตลอดจนให้คำแนะนำเพื่อดำเนินการแก้ไขให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพสูงดีขึ้น ซึ่งการกำจัดข้าวพันธุ์ปน อาจทำไปพร้อมกับการกำจัดวัชพืชและการตรวจโรคแมลงในแปลงขยายพันธุ์ ซึ่งสามารถทำได้ในระยะต่างๆ ดังนี้
1. ระยะกล้า         ตรวจดูความแตกต่างของสีใบ ความสูง สีลำต้น ทรงต้น มุมของใบกับลำต้นและใบที่แสดงอาการเป็นโรค (ข้อพิจารณาเพิ่มเติม การเตรียมแปลงกล้าควรไถหมักดินไว้ อย่างน้อย 10-15 วัน แปลงกล้าไม่ควรมีพืชพันธุ์อื่น แปลงกล้าต้องห่างจากแปลงพันธุ์ข้าวอื่น อย่างน้อย 3 เมตร ถอนกล้าโดยเว้นรอบขอบแปลงอย่างน้อย 50 เซนติเมตร)
2. ระยะแตกกอ      ตรวจดูความแตกต่างของความสูง ลักษณะและสีของใบ สีลำต้น ทรงกอ การแตกกอ มุมของใบกับลำต้น ต้นที่เป็นโรคหรือมีลักษณะที่ผิดปกติและข้าววัชพืช
3. ระยะออกดอก    ตรวจดูลักษณะช่อดอก ช่วงเวลาการออกดอกก่อนหรือหลังเมื่อทำการเปรียบเทียบกับต้นพืชพันธุ์ที่ปลูก สีของรวง ความสูงของรวง การชูรวง ความยาวของคอรวง ลักษณะมุมและสีของใบธง และทรงของกอข้าวที่ต่างกัน
4. ระยะโน้มรวง     ตรวจดูความแตกต่างของสีเมล็ดและรวงข้าว ลักษณะและความยาวของหางคอรวง ลักษณะของเมล็ดและรวงข้าวที่แตกต่างกัน ลักษณะการโน้มของรวงข้าวและลักษณะการตั้งของใบธง
5. ระยะก่อนเก็บเกี่ยว ตรวจดูความแตกต่างของต้นข้าวและเมล็ดข้าวเปลือกที่มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากต้นข้าวพันธุ์ที่ปลูกก่อนทำการเก็บเกี่ยว
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจแปลงขยายพันธุ์ควรดำเนินการควบคู่ไปกับการสุ่มตรวจด้วยการสอบถามข้อมูลประวัติการปลูกพืชในฤดูที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดจากพืชเรื้อขึ้นปะปน ตรวจสอบระยะห่างระหว่างแปลงปลูกกับพืชพันธุ์อื่นให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัยจากการปะปนพันธุ์อื่นด้วย
ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับ หรือมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่ตรวจแปลงขยายพันธุ์เพื่อรับรองเมล็ดพันธุ์ ดังนั้น ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ของสำนักเมล็ดพันธุ์ข้าวจึงได้สร้างระบบตรวจสอบ ควบคุม กำกับขึ้นภายในหน่วยงานเอง เพื่อทำการตรวจสอบคุณภาพแปลงขยายพันธุ์ โดยกำหนดและแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจแปลงขยายพันธุ์อย่างเป็นทางการขึ้นในแต่ละศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว โดยมีเจ้าหน้าที่งานควบคุมคุณภาพร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
คุณลักษณะสำคัญของผู้ตรวจแปลงขยายพันธุ์ ผู้ตรวจแปลงขยายพันธุ์ควรมีความเชี่ยวชาญ และรอบรู้ในด้านต่างๆ ดังนี้
  • ลักษณะประจำพันธุ์ของพืชที่จะทำการตรวจสอบ
  • ลักษณะของโรคที่เกิดการระบาดบ่อยในท้องถิ่น สาเหตุ พาหะ วิธีการป้องกันกำจัดปัจจัยส่งเสริมการระบาด และผลที่มีต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์
  • ลักษณะของวัชพืชที่พบเห็นบ่อยในแปลงขยายพันธุ์
  • ลักษณะพืชชนิดอื่นๆ ที่พบเห็นบ่อยในแปลงขยายพันธุ์
  • ลักษณะผิดปกติของพืชชนิดที่ปลูก เมื่อกระทบปัจจัยต่างๆ ได้แก่ การขาดธาตุอาหาร อุณหภูมิสูง-ต่ำผิดปกติ สารเคมี การขาดน้ำ หรือได้รับน้ำมากเกินไป
  • วิธีการสุ่มเก็บตัวอย่างตรวจและวิธีการแจงนับ ตามที่ได้กำหนดไว้ตามมาตรฐานเพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบแปลงพันธุ์พืชที่ปลูกแต่ละชนิด
2.7 การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
เพื่อให้เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวและมีการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง ภายใต้สภาพแวดล้อมและระยะเวลาที่เหมาะสม สามารถจัดการผลผลิตเมล็ดพันธุ์ให้คงคุณภาพดีก่อนนำไปปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ในลำดับต่อไป ควรดำเนินการ ดังนี้
2.7.1 การเก็บเกี่ยว
              การเก็บเกี่ยวข้าว เจ้าหน้าที่ควบคุมแปลงขยายพันธุ์ ควรแนะนำให้เกษตรกรระบายน้ำออกจากแปลงนาก่อนถึงวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 10 วัน เพื่อให้ข้าวสุกแก่สม่ำเสมอ หรือสังเกตเมล็ดที่ปลายรวงเปลี่ยนเป็นแป้งแข็งและเมล็ดเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
              ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวที่เหมาะสม คือ เก็บเกี่ยวข้าวที่ระยะพลับพลึง ซึ่งจะเก็บเกี่ยวข้าวหลังจากวันที่ข้าวออกดอก (วันที่ข้าวออกดอก หมายถึง วันที่รวงข้าวมีดอกบานเกือบเต็มพื้นที่ หรือมีดอกบานประมาณ 75-80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูก ซึ่งในระยะนี้เมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีความชื้นประมาณ 20-26 เปอร์เซ็นต์) เป็นเวลา 28-30 วัน ในสภาพพื้นที่แปลงนาข้าวที่แห้ง และไม่มีน้ำขัง
              ข้อดีของการเก็บเกี่ยวข้าวในระยะที่เหมาะสม มีผลทำให้ได้ผลผลิตข้าวเต็มศักยภาพ ผลผลิตดีมีคุณภาพ ทั้งสีของข้าวเปลือก สีข้าวกล้อง ขนาดและรูปร่างเมล็ดและคุณสมบัติการหุงต้มที่ตรงตามพันธุ์ได้ปริมาณข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวมากเมื่อนำข้าวเปลือกไปสี
2.7.2 การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว
              การดำเนินการเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวจากแปลงขยายพันธุ์คงคุณภาพดีมีขั้นตอนสำคัญ ดังนี้
  • การนวดทำความสะอาดเบื้องต้น ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมใช้เครื่องจักรเนื่องจากทำงนได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพในการคัดแยกสิ่งเจือปนออกจากเมล็ดได้ ซึ่งมี 2 ประเภท คือ เครื่องนวดข้าวขนาดเล็ก และเครื่องนวดข้าวขนาดใหญ่ (เกี่ยวและนวดข้าวไปพร้อมๆ กัน) ข้อควรพิจารณาในการปฏิบัติคือ นวดเมล็ดพันธุ์ขณะมีความชื้นไม่สูงหรือต่อเกินไป ทำความสะอาดเครื่องนวดให้ถี่ถ้วนและแน่ใจได้ว่า ไม่มีเมล็ดพันธุ์อื่นๆ ติดอยู่ เพื่อป้องกันการปะปนพันธุ์ ใช้ความเร็วรอบในการนวดที่เหมาะสมระหว่าง 400-500 รอบต่อนาที ถ้าเมล็ดพันธุ์มีความชื้นต่ำต้องใช้ความเร็วรอบที่ต่ำด้วย
  • การตากลดความชื้น เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณสมบัติที่สามารถรับและถ่ายเทความชื้นระหว่างภายในเมล็ดกับบรรยากาศรอบๆ เมล็ดพันธุ์ (hygroscopic) จนกระทั่งความชื้นถึงจุดสมดุล ซึ่ง ณ จุดนี้ เมล็ดพันธุ์จะมีความชื้นที่คงที่ ความชื้นที่จุดสมดุลจะมีความแตกต่างไปตามชนิดพืช เนื่องจากขึ้นอยู่กับชนิดของพืช องค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศด้วย
โดยทั่วไปแล้ว ระดับความชื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ข้าว คือ 13-14 เปอร์เซ็นต์ และเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ วิธีการลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ทำได้ ดังนี้
  • ตากบนลานตาก ซึ่งความชื้นของเมล็ดพันธุ์จะลดลงโดยอาศัยแดดและลม มีข้อควรพิจารณาในการปฏิบัติ คือ มีวัสดุรองรับเมล็ดพันธุ์ ไม่ควรตากเมล็ดพันธุ์บนพื้นดินโดยตรง เกลี่ยเมล็ดพันธุ์ให้มีความหนาสม่ำเสมอประมาณ 10 เซนติเมตร เกลี่ยและกลับเมล็ดพันธุ์ที่ตากเพื่อให้รับแสงอย่างทั่วถึงอย่างน้อยวันละ 2-3 ครั้ง
  • ใช้เครื่องอบลดความชื้น มีข้อควรพิจารณา คือ ใช้ในกรณีเมล็ดพันธุ์มีปริมาณมาก ควรมีความรู้ความเข้าใจในวิธีการอบลดความชื้นโดยใช้ถังอบเป็นอย่างดีทราบถึงความสัมพันธ์ในการปรับปริมาณลมร้อนและอุณหภูมิความร้อนที่ใช้ ซึ่งมีหลักการปฏิบัติที่สำคัญ คือ ใช้อุณหภูมิต่ำเมื่อเมล็ดพันธุ์มีความชื้นสูงก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิเมื่อเมล็ดพันธุ์มีความชื้นลดต่ำลง ทั้งนี้ ลมร้อนที่ใช้ควรมีอุณหภูมิประมาณ 40-45 องศาเซลเซียส
  • การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์เพื่อรอการจัดซื้อ มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
  • เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการลดความชื้นแล้วอยู่ในระดับที่ปลอดภัยในภาชนะบรรจุที่เหมาะสม
  • สถานที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ต้องป้องกันแดดแลฝนได้ มีการระบายอากาศที่ดี
  • มีวัสดุรองรับกองเมล็ดพันธุ์ เช่น แคร่ ไม่ควรวางบนพื้นดินหรือซีเมนต์โดยตรง หรือวางชิดฝาผนังมากเกินไป
  • มีระบบควบคุมการเก็บรักษาเพื่อป้องกันการสับสนและเกิดการปะปนพันธุ์ โดยการติดป้ายบ่งชี้ หรือทำเครื่องหมายที่กระสอบบรรจุ
  • ไม่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ไว้ในที่เดียวหรือใกล้กับความชื้นหรือตัวนำความชื้น เช่น เก็บรักษาร่วมปุ๋ย สารเคมี หรือเก็บใกล้แหล่งน้ำ
  • ตรวจสอบสภาพและคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ พร้อมเตรียมการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูที่อาจเข้าทำลายเมล็ดพันธุ์ระหว่างการเก็บรักษา
3. การจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจากเกษตรกรแปลงขยายพันธุ์
เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการผลิตเมล็ดพันธุ์ทีดำเนินงานภายใต้การควบคุม กำกับ ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว เกษตรกรที่จัดทำแปลงขยายพันธุ์ร่วมกับศูนย์ฯ จำเป็นต้องมีการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษาไว้ยังคงคุณภาพดีก่อนนำไปปรับปรุงสภาพเมล็ดพันธุ์ที่ศูนย์ในลำดับต่อไป มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
3.1 การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ก่อนการจัดซื้อ
เจ้าหน้าที่ต้องแนะนำให้เกษตรกรพึงปฏิบัติในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์รอการจัดซื้อ เพื่อคงคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ดีที่สุด ดังนี้
  • สถานที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ควรกว้างขวาง ขนย้ายได้สะดวก สามารถป้องกันแดดและฝนได้ดี
  • การบรรจุเมล็ดพันธุ์ในภาชนะ ความชื้นของเมล็ดพันธุ์ต้องผ่านการลดความชื้นมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการเก็บรักษา และบรรจุในกระสอบตามปริมาณที่ศูนย์ฯ กำหนด
  • การเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ ควรจัดเรียงกระสอบเมล็ดพันธุ์บนแคร่สูงจากพื้น 10-15 เซนติเมตร ไม่ควรวางชิดผนัง หรือเก็บรวมไว้กับปุ๋ยหรือสารเคมี มีพื้นที่ทางเดินที่สามารถเข้าสุ่มตัวอย่างได้สะดวก ติดเครื่องหมายบ่งชี้ในแต่ละกระสอบหรือแต่ละกองอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการปะปนพันธุ์และทำความสะอาดสถานที่เก็บเพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงศัตรู
3.2 วิธีการจัดซื้อ
การจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจากเกษตรกรแปลงขยายพันธุ์ เจ้าหน้าที่งานแปลงขยายพันธุ์ต้องยึดหลักการดำเนินงานตามระเบียบการมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. จัดทำหนังสือขออนุมัติหลักการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืน พร้อมทะเบียนรายชื่อเกษตรกรและประมาณการผลผลิต (แบบสมข. 10101) ก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 45 วัน
2. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับเมล็ดพันธุ์ เมื่อรับทราบการมอบอำนาจในการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์จากกรมการข้าว
3.คณะกรรมการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ ดำเนินการสำรวจและสืบราคารับซื้อเมล็ดพันธุ์ในท้องถิ่น เพื่อเปรียบเทียบและกำหนดราคาซื้อคืนเมล็ดพันธุ์ตามระเบียบและหลักเกณฑ์
4. จัดประชุมทุกงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการวางแผนการสุ่มตัวอย่าง และแผนการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืนตามทะเบียนรายชื่อเกษตรกรที่แปลงขยายพันธุ์ผ่านมาตรฐาน
5. กลุ่มควบคุมคุณภาพสุ่มเก็บตัวอย่างเมล็ดพันธุ์เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดพันธุ์ก่อนการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์คืน แจ้งคณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับเมล็ดพันธุ์
6. คณะกรรมการจัดซื้อดำเนินการ ดังนี้
  • ขออนุมัติราคากลาง ผ่านผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว
  • ขออนุมัติหลักการจัดซื้อ โดยผ่านการทวนสอบข้อมูลผลการวิเคราะห์คุณภาพ จำนวนกระสอบและน้ำหนัก กับรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพก่อนการจัดซื้อ
  • เตรียมวัสดุอุปกรณ์ เพื่อใช้ในการจัดซื้อ ได้แก่ รายงานผลการจัดซื้อ เอกสารชั่งน้ำหนัก ใบสั่งขนส่งชั่วคราว หลาว ปากกาเคมี เป็นต้น
  • ประสานงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อ
  • ชั่งน้ำหนัก และจัดทำใบชั่งน้ำหนักเมล็ดพันธุ์
  • ควบคุมการขนส่งและจัดทำใบสั่งขนส่งเมล็ดพันธุ์ให้งานพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์
ขออนุมัติจัดซื้อเมล็ดพันธุ์แต่ละงวด เพื่อเบิกจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรในลำดับต่อไป
7. คณะกรรมการตรวจรับดำเนิน ดังนี้
  • ตรวจสอบการจัดซื้อเมล็ดพันธุ์แต่ละงวด โดยการทวนสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ระหว่างการจัดซื้อ ทวนสอบจำนวน และน้ำหนักเมล็ดพันธุ์ที่งานพัฒนาธุรกิจเมล็ดพันธุ์รับเข้าโรงเก็บ และจัดทำบันทึกการตรวจรับเมล็ดพันธุ์ที่จัดซื้อคืนในแต่ละงวด
3.3 การเบิกจ่ายเงิน
การเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อเมล็ดพันธุ์ในแต่ละงวด ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดซื้อ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. คณะกรรมการจัดซื้อจัดทำสรุปผลการจัดซื้อรายวัน
2. จัดทำบันทึกขออนุมัติเบิกเงินค่าเมล็ดพันธุ์

3. จัดทำเอกสารการจัดซื้อ ส่งงานการเงินและบัญชีเพื่อดำเนินการตรวจสอบเอกสารการจัดซื้อและเบิกจ่ายเงินค่าเมล็ดพันธุ์ให้แก่เกษตรกร